Top
เป็นที่ทราบกันดีโดยทั่วไปว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นใช้เป็นครั้งแรกในสมัยสุโขทัย เมื่อปีพุทธศักราช ๑๘๒๖ ดังปรากฏข้อความในศิลาจารึกของพระองค์ท่านว่า "เมื่อก่อนลายสือไทยนีบ่มี ๑๒๐๕ศก ปีมะแม พ่อขุนรามคำแหงหาใคร่ใจในใจ แลใส่ลายสือไทนี้ลายสือไทนี้ จึ่งมีเพื่อขุนผู้นั้นใส่ไว้"

และปรากฏข้อความในหนังสือจินดามณีฉบับพระเจ้าบรมโกศ แบบเรียนอักขระวิธีเล่มแรกๆของไทยกล่าวว่า "อนึ่งมีในจดหมายแต่ก่อนว่า ศักราช ๖๔๕มะแมศก พญาร่วงเจ้า ได้เมืองศรีสัชนาไลยได้แต่งหนังสือไทย" แสดงให้เห็นว่าพระปรีชาญาณด้านการปรับปรุงตัวอักษรไทยนี้เป็นที่ยอมรับโดยทั่วกัน

นักภาษาศาสตร์เชื่อว่า รูปอักษรที่เรียกว่า "ลายสือไท" นี้ คงเกิดขึ้นจากการดัดแปลงรูปแบบของตัวอักษรที่ใช้อยู่ในพื้นที่แถบนี้มาก่อน เช่น อักษรมอญ และเขมร โดยปรับปรุง ให้ง่ายต่อการเขียน ตัดกลวิธีการประสมพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ที่ซับซ้อนออกไป เช่น ตัดส่วนของตัวอักษรเขมรที่เรียกว่า "หนามเตย"ออก และปรับปรุงอักขระวิธีให้ง่าย เพื่อความสะดวกในการเรียนรู้ และนำไปใช้ ตลอดระยะเวลายาวนานกว่า ๗๐๐ ปีนับจากที่ทรงคิดค้นครั้งนั้น ลายสือไทก็ได้รับการปรับปรุงอยู่เสมอ จนกลายเป็น "อักษรไทย" ในปัจจุบัน

แม้ว่าจะมีลายสือไทใช้แล้ว แต่ผู้คนในแถบนี้ก็ยังใช้ตัวอักษรอื่นๆในการติดต่อสื่อสาร ในบริบทที่ต่างกัน เช่นอักษรขอม และอักษรธรรม ที่นิยมใช้กันมาแต่เดิมเพื่อบันทึกเอกสารราชการ เช่น พระบรมราชโองการ ตราตั้ง ไปจนถึงคาถาบทสวดในพิธีกรรมหรือศาสนา นับถือกันว่าเป็นตัวอักษรศักดิ์สิทธิ์ เราจึงพบศิลาจารึกสุโขทัย ที่จารึกขึ้นจากตัวอักษรหลายชิด ทั้งลายสือไทย ขอม และอักษรธรรมล้านนา ความเชื่อเช่นนี้ยังคงดำเนินต่อมาจนกระทั่งช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนกลาง ก่อนระบบการศึกษาตามาตรฐานสากลจะเริ่มแพร่หลายในประเทศไทย และอักษรไทยกลายเป้ฯตัวอักษรหลักในการเรียนการสอนในโรงเรียน


ย้อนกลับ