Top

การแต่งกาย

สิ่งสะท้อนวิถีชีวิต ถิ่นคนพระร่วง
จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีใครกล้ายืนยันรูปแบบการแต่งกายของผู้คนในสมัยปัจจุบันได้อย่างชัดเจน เพราะหลักฐานที่ชี้ชัดลงไปได้นั้นไม่เหลืออยู่แล้ว การศึกษารูปแบบการแต่งกายจึงต้องอาศัยการอนุมานเอาจากหลักฐานทางศิลปะ เช่น ประติมากรรม และจิตรกรรม

มีการค้นพบประติมากรรมดินเผาเคลือบขนาดเล็กที่เรียกว่า "ตุ๊กตาสังคโลก" จำนวนมากในเขตเมืองโบราณสุโขทัย สันนิษฐานว่าอาจเป็นเครื่องประดับตกแต่งหรือเครื่องใช้ในพิธีกรรม ทว่าไม่ว่าประโยชน์ใช้สอยคืออะไร นักวิชาการต่างก็เห็นตรงกันว่าตุ๊กตาสังคโลกเหล่านี้สะท้อนวิถีชีวิตของผู้คนในสมัยนั้นได้อย่างดี โดยเฉพาะการแต่งกาย


เครื่องทรงพระมหากษัตริย์ และเจ้านายในพระราชพิธี อาจจะคล้ายกับเครื่องทรงเทวรูปหรือเทวดา คือทรงมงกุฎทรงเตี้ย ที่เรียกว่า "เทริด" สวมกรองพระศอ พาหุรัด กำไลข้อพระกร ทองพระบาท ทรงพระภูษาซ้อนชั้น มีประติมากรรมแกะสลักหินชิ้นหนึ่ง พบในเมืองโบราณสุโขทัย ปัจจุบันจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง เป็นรูปสตรีเกล้าผมมวยไว้ด้านหลังศีรษะ สวมเสื้อแขนยาว ห่มสไบทับ นุ่งผ้ายาวกรอมเท้า ซ้อนชั้น อาจได้รับแรงบันดาลใจมาจากเครื่องแต่งกายจริงก็ได้


แม้ว่าในศิลาจารึกบางหลักจะกล่าวถึงผ้าไว้ เช่น "ผ้าเบญจรงค์" จากจารึกวัดป่ามะม่วง ภาษาเขมร "ผ้าเบงจตี" จากจารึกวัดเขมา เป็นต้น แต่ก็ไม่มีใครทราบว่าชื่อเหล่านี้คือชนิด รูปแบบ หรือลักษณะของผ้ากันแน่

อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีการอพยพเข้ามาของชาวลาวพวน มาจากแขวงเมืองเชียงขวาง ราชอาณาจักรลาวมายังบ้านหาดเสี้ยว เมืองศรีสัชนาลัย ซึ่งได้นำภูมิปัญญาด้านผ้าทอเข้ามาด้วย เมื่อเวลาผ่านไปได้ผสมผสานภูมิปัญญานั้นเข้ากับภูมิปัญญาด้านผ้าทอของชาวไทยล้านนา กลายเป็นผ้าทออันเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของเมืองสุโขทัย ในนาม "ผ้าตีนจกหาดเสี้ยว"

ย้อนกลับ