Top
หากลองสังเกตดี ๆ จะพบว่าตำนานเรื่องพระร่วง มีความเกี่ยวพันเชื่อมโยงกับน้ำอย่างมาก ตั้งแต่เป็นโอรสของนางนาค ธิดาของเจ้าบาดาล ปาฏิหาริย์พระร่วงกับการส่งส่วยน้ำ ไปจนถึงเรื่องพระร่วงดำน้ำ อันเป็นตอนจบของเรื่อง นิทานเรื่องนี้อาจจะพยายามแสดงสัญลักษณ์ที่น่าสนใจให้ผู้ฟังทราบว่า เรื่องน้ำเป็นเรื่องสำคัญ ที่ผู้นำของชุมชนโบราณจำเป็นจะต้องสนใจ

ทั้งเมืองโบราณสุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร ซึ่งเป็นเมืองเอกของอาณาจักรสุโขทัยนั้น มีร่องรอยของความพยายามในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้มีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง และจากการศึกษาของนักวิชาการก็พบว่า ความพยายามเหล่านั้นมีประสิทธิผลน่าพึงพอใจ ทำให้อาณาจักรสุโขทัย "ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว" ตามที่ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงกล่าวไว้

การบริหารจัดการน้ำของเมืองในวัฒนธรรมสุโขทัยนั้น ครอบคลุมตั้งแต่การค้นหาแหล่งน้ำ การเก็บกักน้ำ การชลประทาน ไปจนถึงการป้องกันความเสียหายอันเกิดขึ้นจากน้ำ ซึ่งส่งผลต่อทั้งสวัสดิภาพของเมืองและความอยู่ดีกินดีของราษฎร ดังเห็นได้จากข้อความในจารึกบนฐานเทวรูปพระอิศวรเมืองกำแพงเพชรที่ สร้างขึ้นราวพุทธศักราช ๒๐๕๓ กล่าวถึงการปรับปรุงชลประทานที่เอื้อประโยชน์ต่อการเกษตร ความว่า "อนึ่งท่อปู่พระพญาร่วงทำเอาน้ำไปเถิงบางพานนั้นก็ถมหายสิ้นและเขาย่อมทำนาทางฟ้าและหาท่อนั้นพบ กระทำท่อเอาน้ำไปเลี้ยงนาให้เป็นนาเหมืองนาฝาย มิได้เป็นทางฟ้า" ทำให้ทราบว่าระบบชลประทานส่งส่งน้ำที่เรียกว่า "ท่อปู่พญาร่วง" นั้น มีประสิทธิภาพมากจนสามารถนำน้ำจากเมืองกำแพงเพชรไปหล่อเลี้ยงพื้นที่เมืองบางพาน (สันนิษฐานว่าคืออำเภอพรานกระต่าย) ประชาชนที่เคยทำนาปีโดยอาศัยฝนฟ้า ก็สามารถทำนาปรังโดยอาศัยเหมืองฝายได้ ส่วนที่สุโขทัยและศรีสัชนาลัยนั้น มีการค้นพลการทำคนดินสำหรับกักน้ำและเบี่ยงกระแสน้ำ เพื่อบังคับน้ำให้ไหลไปยังสถานที่ที่จะสามารถกักเก็บ ไม่ไหลบ่าเข้าท่วมเมืองได้ ภูมิปัญญาเหล่านี้ทำให้สุโขทัยสามารถจัดการเกษตรกรรมจนประสบความสำเร็จ นาข้าวกลายเป็นส่วนหนึ่งของบุญกิริยา ที่จะใช้อุทิศเพื่อถวายแก่วัดวาอาราม อันเป็นธรรมเนียมนิยมแต่โบราณ ดังปรากฏข้อคามในศิลาจารึกหลายหลักแสดงถึงการ "กัลปนา" คือ อุทิศที่นา และผลประโยชน์จากที่นาถวายแก่วัดต่าง ๆ

สังเกตได้ว่า แม้แต่ระบบชลประทานแห่งเมืองกำแพงเพชรนั้น ผู้คนก็ยังขนานนามว่า "ท่อปู่พญาร่วง" ซึ่งสามารถสะท้อนความผูกพันระหว่างคน วัฒนธรรม และธรรมชาติได้อย่างดี เป็นตัวอย่างสำคัญของ "มรดกพระร่วง" ที่ตกทอดมาสู่เราในปัจจุบัน


ย้อนกลับ