Top

การดนตรีและการฟ้อนรำ

เส้นเสียงและท่าทางแห่งมรดกพระร่วง
แม้จะไม่มีหลักฐานที่กล่าวถึงชนิดของวงดนตรี เพลง หรือรูปแบบการฟ้อนรำในสมัยสุโขทัย ทว่าจากศิลาจารึกบางหลักก็พบข้อมูลที่ทำให้สามารถอนุมานรูปแบบของศิลปกรรมแขนงนี้คร่าวๆได้ อาทิ "แต่นี้อำแดงหยาด สร้างไว้บูชาพระเป็นเจ้า ฆ้องดวงหนึ่ง ดำหน้าศอกหนึ่งค่าสองตำลึง กลองลูกหนึ่ง ไม้สักตำลึงหนึ่ง กังสะดาลลูกหนึ่งหนักสองชั่ง ค่าหกสลึง" (ศิลาจารึกวัดเขมา)"...เมื่อกรานกฐิน มีพนมเบี้ย มีพนมหมาก มีพนมดอกไม้ มีหมอนนั่งหมอนโนน มีบริพารกฐิน โอยท่านแล่ปีแล้ญิบล้าน ไปสูดญัติกฐินเถิงอรัญญิกพู้น เมื่อจักเข้ามาเวียงเรียงกันแต่อรัญญิกพู้นเท่าหัวลาน ดํบงคํกลอง ด้วยเสียงพาดเสียงพิน เสียงเลื้อน เสียงขับ ใครจักมักเล่นเล่น ใครจักมักหัวหัว ใครจักมักเลื้อนเลื้อน..." (ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช) "...พาทย์คู่หนึ่ง ให้ข้าสองเรือนตีบำเรอแก่พระเจ้า ฆ้องสองอัน กลองสามอัน แตร... แต่งให้ไว้แก่พระเจ้า" (ศิลาจารึกวัดช้างล้อม)

ข้อความจากจารึกเหล่านี้ ช่วยให้นักวิชาการสันนิษฐานว่าดนตรีที่ใช้ในสมัยสุโขทัยนั้น มีทั้งวงปี่พาทย์เครื่องห้า และวงประโคม


อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้พบวงดนตรีพื้นถิ่นประเภทหนึ่ง นิยมบรรเลงกันในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง อาทิ สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร เป็นต้น เรียกกันว่า "มังคละ" ประกอบไปด้วยเครื่องดนตรีคือ กลองมังคละ เป็นกลองหนังหน้าเดียวขนาดเล็ก ทำ หุ้มด้วยหนัง ปี่ กลองสองหน้า ๒ ขนาด ขนาดใหญ่ เรียกว่า กลองยืน ขนาดเล็กเรียกว่า กลองหลอน ตีจังหวะ ขัดล้อกัน ฆ้องโหม่ง เครื่องประกอบจังหวะ ได้แก่ ฆ้อง ๒ ใบ แขวน อยู่บนคานหาม ฉิ่ง และฉาบใหญ่ ๑ คู่

หลักฐานที่เก่าที่สุดเกี่ยวกับวงมังคละในพื้นที่นี้ ปรากฏในพระนิพนธ์ "จดหมายเหตุระยะทางไปพิษณุโลก" เมื่อพุทธศักราช ๒๔๔๔ ความว่า "...ลืมเล่าถึงมังคละไป...เครื่องมังคละนี้ เป็นเครื่องเบญจดุริยางค์แท้ มีกลองเล็กรูปเหมือนเถิดเทิงแต่สั้นขึงหนังหน้าเดียว มีไม้ตียาวๆ ตรงกับ "อาตฺต" ใบหนึ่ง...เสียงเพลงนั้นเหมือนกลองมลายู"

เบญจดุริยางค์ที่ทรงกล่าวถึงคือชื่อวิธีการเล่นดนตรีแบบโบราณของคนแถบอินเดีย และศรีลังกา ซึ่งมีเครื่องดนตรี และเสียงบรรเลงคล้ายกับวงมังคละ และคล้ายกับวงดนตรีที่กล่าวถึงศิลาจารึกวัดช้างล้อม จึงน่าเชื่อว่ามังคละน่าจะมีรากเหง้ามาจากวงดนตรีสมัยสุโขทัยด้วยเช่นกัน

ย้อนกลับ